<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

EducationResearch

การบริหารงานวิชาการ

ความหมายการบริหารงานวิชาการ

งานวิชาการเป็นงานหลักและเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมในสถานศึกษา  โดยมีจุดหมายให้ไปสู่การมีคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา  นักการศึกษาได้ให้ความหมายของการบริหารงานวิชาการไว้แตกต่างกัน  ดังนี้

อำภา  บุญช่วย  (2537,  หน้า  2)  กล่าวว่า  การบริหารงานวิชาการ  เป็นการบริหารที่มีความยุ่งยาก  เพราะเกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการสอน  ผู้บริหารต้องใช้ความพยายาม  และความสามารถอย่างมากในการนำคณะครูและผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์  (2543,  หน้า  2)  กล่าวว่า  การบริหารงานวิชาการ  หมายถึง  การบริหารสถานศึกษา  โดยมีการจัดกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปรับปรุง  พัฒนา
การเรียนการสอนให้ได้ผลดี  และมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน

ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์  (2545,  หน้า  9)  กล่าวว่า  การบริหารงานวิชาการ  หมายถึง  กระบวนการจัดกิจกรรมในงานวิชาการ  ซึ่งเป็นภารกิจหลักให้เกิดการปรับปรุง  พัฒนาและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ

ภาวิดา  ธาราศรีสุทธิ  (2550,  หน้า  3)  กล่าวว่า  การบริหารงานวิชาการ  หมายถึง
การบริหารงานหรือดำเนินงานทุกชนิดในสถานศึกษา  เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ  และประสิทธิผลสูงสุด  โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติการที่มีหน้าที่  และภาระกิจโดยตรงในการจัดการศึกษา  มีหน้าที่พัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถ  นำไปใช้ในการดำรงชิวิตได้อย่างมีคุณค่า  และมีศักดิ์ศรี

จากการศึกษาความหมายของการบริหารงานวิชาการ  สรุปได้ว่า  การบริหารงานวิชาการเป็นกระบวนการบริหารในกิจกรรมต่าง ๆ  ที่สถานศึกษาจัดขึ้น  ซึ่งส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อผู้เรียน  ทั้งนี้เพื่อปรับปรุง  ส่งเสริม  และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพมาตรฐานได้ตามเจตนารมณ์ของการศึกษาให้มากที่สุด

 

ความสำคัญของงานวิชาการ

อำภา  บุญช่วย  (2537,  หน้า  1)  ได้กล่าวถึง  ความสำคัญของงานวิชาการว่า  งานวิชาการเป็นหัวใจของสถาบันการศึกษาทุกระดับ  ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัยหรือระดับสถานศึกษา  การที่จะดูว่าสถาบันใดมีมาตรฐานก็มักเอาผลงานทางวิชาการเป็นสำคัญ  งานวิชาการจะสัมฤทธิ์ผลเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้บริหารว่าจะเอาจริงเอาจังกับการบริหารงานวิชาการเพียงใด

อุทัย  บุญประเสริฐ  (2540,  หน้า  25)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิชาการว่า
งานวิชาการเป็นงานหลัก  เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของระบบ  เป็นงานที่เป็นหัวใจของสถานศึกษา  และมีหลักสูตรซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของงานวิชาการ  ที่จะตอบสนองและสนับสนุนงานวิชาการให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์  (2543,  หน้า  1)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิชาการว่า  การบริหารงานวิชาการเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษา  ไม่ว่าสถานศึกษาจะเป็นประเภทใด  มาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตรการจัดโปรแกรมการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นหัวใจของสถานศึกษา

จากการศึกษาความสำคัญของงานวิชาการ  สรุปได้ว่า  การบริหารงานวิชาการเป็นภารกิจหลักของผู้บริหารสถานศึกษา  มาตรฐานคุณภาพการศึกษาจะปรากฏเด่นชัด  หากผู้บริหารสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นจึงถือได้ว่าการบริหารงานวิชาการเป็นหัวใจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในสถานศึกษา  ผู้บริหารต้องใส่ใจและตระหนักในภารกิจ  รู้จักปรับปรุงตนเอง รู้และเข้าใจงานวิชาการอย่างถ่องแท้  รวมทั้งพัฒนางานวิชาการให้ก้าวหน้า  ทันต่อการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังจะได้รับความไว้วางใจ การยอมรับนับถือจากชุมชน  สังคม  อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในที่สุด

 

หลักการบริหารงานวิชาการ

ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์  (2545,  หน้า  9)  ได้กล่าวถึง  หลักการบริหารงานวิชาการที่สำคัญๆ  ดังนี้

  1. หลักการพัฒนาคุณภาพ  (Quality  Management)  เป็นการบริหารเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ  องค์ประกอบของคุณภาพที่เป็นตัวชี้วัดคือผลผลิต  และกระบวนการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลากรและผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจ พัฒนาศักยภาพเป็นที่ยอมรับของสังคมในระดับสากลมากขึ้น  โดยอาศัยกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาได้แก่  การควบคุมคุณภาพการตรวจสอบคุณภาพ  และการประเมินผล
  2. หลักการมีส่วนร่วม  (Participation)  การปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการบริหารได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ  โดยหลักการมีส่วนร่วม  การเสนอแนะและการพัฒนาในงานวิชาการ  ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย  จึงอาจดำเนินงานในรูปของคณะกรรมวิชาการโดยมีเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนา  คุณภาพได้มากขึ้น  การมีส่วนร่วมต้องเริ่มจาก  การร่วมคิด  ร่วมทำและร่วมประเมินผล
  3. หลักการ  3  องค์ประกอบ  (3  –  Es)  ได้แก่  ประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  ประหยัด

3.1  หลักประสิทธิภาพ  (Efficiency)  หมายถึง  การปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการ มีปัญหาและอุปสรรคขณะดำเนินการก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ การมีประสิทธิภาพเน้นไปที่กระบวนการ  (Process)  การใช้กลยุทธ์และเทคนิควิธีต่าง ๆ  ที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด

3.2  หลักประสิทธิผล  (Effectiveness)  หมายถึง  ได้ผลผลิต  (Outcome)  ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความรู้ความสามารถ  มีทักษะเพิ่มขึ้นรวมทั้งการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ อย่างไรก็ตามมักใช้สองคำนี้ควบคู่กันคือมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3.3 หลักประหยัด (Economy) หมายถึง การใช้เวลาน้อย การลงทุนน้อย การใช้กำลังหรือแรงงานน้อย โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรการบริหาร แต่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง ดังนั้นการลงทุนทางวิชาการจึงต้องคำนึงหลักความประหยัดด้วยเช่นกัน

  1. หลักความเป็นวิชาการ (Academics) หมายถึง  ลักษณะที่ครอบคลุมเนื้อหาสาระของวิชาการได้แก่ หลักการพัฒนาหลักสูตร หลักการเรียนรู้ หลักการสอน หลักการวัดผลประเมินผล หลักการนิเทศการศึกษา และหลักการวิจัย เป็นต้น หลักการเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์

จากการศึกษาหลักการบริหารงานวิชาการ  สรุปได้ว่า  หลักการบริหารงานวิชาการเป็นแนวคิดเพื่อให้การปฏิบัติบรรลุสู่ความสำเร็จในการบริหารงานวิชาการ  ดังนั้นในการบริหารงานวิชาการ  ผู้บริหารต้องใช้ทั้งหลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยคำนึงถึงคุณภาพของเป้าหมายคือ ผู้เรียนเป็นหลัก  นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงบุคลากรซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการบริหาร  โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร  ให้การส่งเสริมสนับสนุน  และดูแลเอาใจใส่  ด้วยความยุติธรรมและเสมอภาค

 

ขอบข่ายการบริหารงานวิชาการ

เนื่องจากการบริหารงานวิชาการ  ครอบคลุมกิจกรรมในทุกด้านที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน  ขอบข่ายของงานวิชาการจึงกว้าง  และครอบคลุมงานหลายด้าน  ดังที่  ปรียาพร
วงศ์อนุตรโรจน์  (2535,  หน้า  3-4)  ได้เสนอขอบข่ายการบริหารงานวิชาการ  ซึ่งประกอบด้วย

  1. การวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ

1.1 แผนปฏิบัติงานวิชาการ

1.2 โครงการสอน

1.3 บันทึกการสอน

  1. การจัดดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน

2.1 การจัดตารางสอน

2.2 การจัดชั้นเรียน

2.3 การจัดครูเข้าสอน

2.4 การจัดแบบเรียน

2.5 การปรับปรุงการเรียนการสอน

2.6 การฝึกงาน

  1. การจัดบริหารเกี่ยวกับการเรียนการสอน

3.1 การจัดสื่อการเรียนการสอน

3.2 การจัดห้องสมุด

3.3 การนิเทศการสอน

3.4 การวัดและประเมินผล

กระทรวงศึกษาธิการ  (2546,  หน้า 7)  ได้กำหนดขอบข่ายการบริหารงานวิชาการไว้  ดังนี้

  1. การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
  2. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้
  3. การวัดผลประเมินผล
  4. การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  5. การพัฒนาสื่อ  นวัตกรรม  เทคโนโลยี
  6. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้
  7. การนิเทศการศึกษา
  8. การแนะแนวการศึกษา
  9. การพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
  10. การส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการแก่ชุมชน
  11. การประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่น
  12. การส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการแก่บุคคล  ครอบครัว  องค์กร  หน่วยงานและสถาบันอื่นที่จัดการศึกษา

ธีระ  รุญเจริญ  (2547,  หน้า  72)  กำหนดขอบข่ายการบริหารงานวิชาการไว้  8  ได้แก่

  1. ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
  2. ด้านการพัฒนาการเรียนรู้
  3. ด้านการวัด  ประเมินผล  และการเทียบโอนผลการศึกษา
  4. ด้านการประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา
  5. ด้านการพัฒนาและใช้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา
  6. ด้านการพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งการเรียนรู้
  7. ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

8   ด้านการส่งเสริมชุมชนให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ

จากความหมายการบริหารงานวิชาการ  ความสำคัญของงานวิชาการ  หลักการบริหารงานวิชาการ  และขอบข่ายการบริหารงานวิชาการดังกล่าว  ผู้วิจัยได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการสังเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนกับประสิทธิผลของสถานศึกษา

ที่มา:

  • จตุรภัทร ประทุม. (2559). ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต,  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา,  คณะศึกษาศาสตร์,  มหาวิทยาลัยบูรพา.