<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

EducationResearch

ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ความหมายของคำว่าผู้นำ

นักการศึกษาได้ศึกษาเกี่ยวกับผู้นำและได้ให้ความหมายของคำว่า  ผู้นำ  ไว้ต่าง ๆ  กัน  ดังเช่น

ภาวัฒน์  พันธุ์แพ  (2546,  หน้า  9)  ได้ให้ความเห็นของผู้นำว่า  ผู้นำเป็นคนที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายต่าง ๆ  หรือเป็นบุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกัน  โดยที่ว่าจะเป็น
การอยู่ร่วมกันก็ตาม  หรือทำการร่วมมือกันก็ตาม  ให้พากันไปด้วยดีสู่จุดมุ่งหมายที่ดีงาม  โดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม”

สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์  (2550,  หน้า  14)  ได้สรุปความหมายของผู้นำว่า  ผู้นำคือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย  ซึ่งอาจโดยการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งและเป็นที่ยอมรับของสมาชิกให้มีอิทธิพลและบทบาทเหนือกลุ่ม  สามารถที่จะจูงใจชักนำ  หรือชี้นำให้สมาชิกของกลุ่มรวมพลังเพื่อปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ  ของกลุ่มให้สำเร็จ

รังสรรค์  ประเสริฐศรี  (2551,  หน้า  39)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  ผู้นำ  (Leader)  เป็นบุคคลที่ทำให้องค์กรประสบความก้าวหน้า  และบรรลุผลสำเร็จโดยเป็นผู้ที่มีบทบาทแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา  หรือผู้นำคือบุคคลซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงและช่วยเหลือบุคคลต่าง ๆ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

เนตร์พัณณา  ยาวิราช  (2552,  หน้า  1)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  ผู้นำเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากบุคคลอื่น  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา  หรือได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าในการดำเนินงานต่าง ๆ  ในองค์กรต่าง ๆ ต้องอาศัยบุคคลที่เป็นผู้นำและมีความเป็นผู้นำจึงจะทำให้องค์กรดำเนินไปอย่างบรรลุสำเร็จตามวัตถุประสงค์  และนำพาหน่วยงานไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

วิเชียร  วิทยอุดม  (2553,  หน้า  3)  ได้สรุปความหมายของผู้นำว่า  ผู้นำจะเป็นเพียงบุคคลที่ยอมรับหรือยกย่องให้เป็นหัวหน้าจากสมาชิกในกลุ่ม  เนื่องจากลักษณะใดลักษณะหนึ่งอันเกิดจากบุคลิกลักษณะของเขาในสถานการณ์หนึ่ง ๆ  ซึ่งยอมรับในตัวของเขา  เช่น  เป็นคนกล้า  มีความรู้ความสามารถ  มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมกว่าคนอื่น  แต่ตรงกันข้ามอาจจะไม่มีลักษณะของความเป็นผู้นำหรือมีภาวะผู้นำก็ได้

สัมมา  รธนิธย์  (2553,  หน้า  17)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  บุคคลที่มีภาวะผู้นำที่สามารถชักจูง  ชี้นำ  สั่งการ  มีอิทธิพลให้บุคคลอื่นปฏิบัติงาน  ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

จอมพงศ์  มงคลวนิช  (2555,  หน้า  180)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้งหรือการยกย่องจากกลุ่มให้ทำหน้าที่ของตำแหน่งผู้นำ  เช่นการชี้แนะ  สั่งการ  และช่วยเหลือให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้

รัตติกรณ์  จงวิศาล  (2556,  หน้า  11)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง  หรืออาจเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก  หรือแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ  หรือบุคคลที่มีอิทธิพลและมีบทบาทเหนือคนอื่น ๆ  หรือเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ  ศรัทธา  หรือได้รับความไว้วางใจให้นำ

Dejnozka  (1983,  p.94  อ้างถึงใน  สมุทร  ชำนาญ,  2556,  หน้า  43)  ได้ให้ความหมายของผู้นำว่า  บุคคลที่ถูกเลือกหรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า  หรือนำกลุ่ม  มีอิทธิพลต่อกิจกรรมต่าง ๆ  ภายในกลุ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

จากความหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าผู้นำ  คือ   เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ  หรือได้รับการคัดเลือก  เป็นที่ยอมรับของบุคคล  มีอิทธิพลและบทบาทเหนือบุคคลอื่น ทำหน้าที่ชี้แนะ  สั่งการ  ช่วยเหลือ  และนำกลุ่มไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

ความหมายของภาวะผู้นำ

นักวิชาการให้ความหมายของคำว่า  ภาวะผู้นำ  ไว้ดังเช่น

ภาวัฒน์  พันธุ์แพ  (2546,  หน้า  11)  ได้ให้ความคิดเห็นของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำเป็นศิลปในการจูงใจคนให้กระทำตามสิ่งที่ผู้นำปรารถนา  โดยที่ผู้ตามเต็มใจและมีความสุขเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในสิ่งที่ผู้นำปรารถนา

บุตรี  จารุโรจน์  (2549,  หน้า  1)  ได้กล่าวสรุปความหมายของภาวะผู้นำว่า  คือผลของการกระทำของผู้นำซึ่งถือเป็นจุดรวมพลังร่วมในฐานะผู้ใช้อิทธิพล  หรืออำนาจเหนือบุคคลอื่น ๆ  อาทิ  เช่น  ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้นำสั่งการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ

สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์  (2550,  หน้า  29)  ได้สรุปความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการอิทธิพลทางสังคมที่บุคคลหนึ่งตั้งใจใช้อิทธิพลต่อผู้อื่น  ให้ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ  ตามที่กำหนด  รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขององค์การ  ภาวะผู้นำจึงเป็นกระบวนการอิทธิพลที่ช่วยให้กลุ่มบุคคลสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

ธร  สุนทรายุทธ  (2551,  หน้า  326)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำจะเกี่ยวข้องกับอำนาจ  หรืออิทธิพลเหนือบุคคลแสดงอำนาจต่อผู้บริหาร  เช่นความรู้  ความสามารถ  ประสบการณ์  บุคลิกภาพ  และอื่น ๆ  ที่มีอำนาจเหนือบุคคลนั้น ๆ  อำนาจดังกล่าวจะเกิดการยอมรับของสมาชิก  เกิดการกระตุ้นภายในกลุ่ม  สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

รังสรรค์  ประเสริฐศรี  (2551,  หน้า  39)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งที่จะชักนำกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน  (Shared  goal)  หรือเป็นความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลระหว่างผู้นำ  (Leaders)  และผู้ตาม  (Followers)  ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน  (Shared  purposes)  หรือเป็นความสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายองค์การ

เนตร์พัณณา  ยาวิราช  (2552,  หน้า  1)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำคือบุคคลที่มีความสามารถในการบังคับบัญชาบุคคลอื่นโดยได้รับการยอมรับ  และยกย่องจากบุคคลอื่นเป็นผู้ทำให้บุคคลอื่นไว้วางใจ  และให้ความร่วมมือ  ความเป็นผู้นำเป็นผู้มีหน้าที่ในการอำนวยการ  หรือสั่งการบังคับบัญชา  ประสานงานโดนอาศัยอำนาจหน้าที่  (Authority)  เพื่อให้กิจการงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ

วิเชียร  วิทยอุดม  (2553,  หน้า  3)  ได้สรุปความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำหรือความเป็นผู้นำจะต้องมีบุคลิกภาพพิเศษหลายอย่างสามารถที่จะบังคับบัญชาผู้อื่นได้  โดยอาศัยอำนาจหน้าที่  (Authority)  จากตำแหน่งและอำนาจบารมี  (Power)  ที่ได้จากตัวของเขาเองเป็นเครื่องมือ  และสามารถจะสร้างอิทธิพลต่อผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความเชื่อถือ  ยอมร่วมมือหรือยอมรับในตัวของเขาได้  ไม่ว่าจะบุคลิกภาพลักษณะของความเป็นผู้นำ  ความรู้  ความสามารถ  ความคิดริเริ่ม  การตัดสินใจ  ฯลฯ  เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของกลุ่มหรือขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

สัมมา  รธนิธย์  (2553,  หน้า  13)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  เป็นการใช้อิทธิพลของบุคคลหรือของตำแหน่งโดยการจูงใจให้บุคคลหรือกลุ่มปฏิบัติตามความคิดเห็น  ความต้องการของตนด้วยความเต็มใจ  ยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพื่อจะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่มตามที่กำหนดไว้

จรัส  อติวิทยาภรณ์  (2554,  หน้า  305)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  คือพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกในรูปแบบของกระบวนการ  ความสามารถหรือกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่น  โดยที่บุคคลจะคล้อยตามหรือปฏิบัติตามผู้นำเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง

จอมพงศ์  มงคลวนิช  (2555,  หน้า  181)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  กระบวนการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือมากกว่า  พยายามใช้อิทธิพลของตนหรือกลุ่มตนกระตุ้น  ชี้นำ  ผลักดันให้บุคคลอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่นมีความเต็มใจและกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ  ตามต้องการ  โดยมีความสำเร็จของกลุ่มหรือองค์การเป็นเป้าหมาย

ภารดี  อนันต์นาวี  (2555,  หน้า  77)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  ภาวะผู้นำหมายถึงกระบวนการและสถานการณ์ที่บุคคลหนึ่งได้เป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้นำในกลุ่มและมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มบุคคลนั้น  สมาชิกในกลุ่มเชื่อว่ามีความสามารถใน   การแก้ปัญหาต่าง ๆ  ที่กลุ่มเผชิญอยู่ได้  โดยอาศัยอำนาจหน้าที่หรือการกระทำของผู้นำในการชักจูง  หรือชี้นำบุคคลอื่นให้ปฏิบัติงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

รัตติกรณ์  จงวิศาล  (2556,  หน้า  14)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  เป็นคุณลักษณะ  พฤติกรรม  ความสามารถ  หรือกระบวนการที่เป็นปฏิสัมพันธ์หรือเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคล  ที่สามารถมีอิทธิพลต่อผู้อื่น  กลุ่มคน  สามารถสร้างแรงบันดาลใจ  ความปรารถนา  ทำให้เกิดความเชื่อถือศรัทธา  การยอมรับ  ความพยายาม  การอุทิศตัว  การใช้ความสามารถอย่างดีที่สุด  และช่วยเพิ่มอำนาจของผู้อื่น  เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

Hersey  &  Blanchard  (1993,  p.94  อ้างถึงใน  ธร  สุนทรายุทธ,  2551,  หน้า  326)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  เป็นกระบวนการที่ใช้อำนาจเหนือบุคคลหรือกลุ่ม  ในการพยายามทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย

Darft  (2003,  p.5  อ้างถึงใน  ภารดี  อนันต์นาวี,  2555,  หน้า  76)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  ความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลระหว่างผู้นำ  (Leader)  และผู้ตาม  (Followers)  ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน  (Shared  purposes)

Dubrin  (2010,  p.4  อ้างถึงใน  สมุทร  ชำนาญ,  2556,  หน้า  50)  ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า  เป็นพฤติกรรมการมีส่วนร่วม  ระหว่างผู้นำ  และสมาชิกของกลุ่ม  เพื่อดำเนินการให้กลุ่มสามารถบรรลุเป้าหมายได้

จากความหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าผู้นำ  คือ  ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการใช้อำนาจหรืออิทธิพลโดยได้รับการยอมรับ  ปฏิบัติตาม  และให้ความร่วมมือจากบุคคลหรือสมาชิกอื่น  เพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนด

องค์ประกอบของพฤติกรรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  (Transformational  Leadership  Factors) 

Bass  (1985,  p.48)  อธิบายถึงคุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่สำคัญของภาวะผู้นำ
การเปลี่ยนแปลง  (Transformational  Leadership)  ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ  4  ประการคือ
(สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์,  2548,  หน้า  373-374;  สุเทพ  พงศ์ศรีวัฒน์,  2550,  หน้า  265-266; สัมมา  รธนิธย์,  2553,  หน้า  127-128;  สมุทร  ชำนาญ,  2556,  หน้า  149-150;  วิโรจน์  สารรัตนะ,  2557,  หน้า  26-28)

  1. การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์  หรือความเสน่หา  (Idealized  Influence  or  Charisma)  เป็นพฤติกรรมที่ผู้นำเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากผู้ตามด้วยความเต็มใจ  หรือมีความเสน่หา  มีบารมี  เป็นที่ยกย่อง  ศรัทธา  ไว้วางใจ  ผู้ตามจึงยอมรับแบบอย่างจากผู้นำอย่างจริงใจ  มีความสามารถในการมองการณ์ไกล  การรับรู้ถึงภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ  ความสามารถโน้มน้าวผู้อื่น  และการใช้อิทธิพลเชิงอุดมการณ์  เป็นการสร้างบทบาทความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานให้ผู้ตามเห็นอย่างสม่ำเสมอ  เกิดการลอกเลียน แบบพฤติกรรมขึ้น  จนเป็นการยอมรับเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
  2. การสร้างแรงดลใจ  (Inspiration  Motivation)  เป็นพฤติกรรมของผู้นำที่แสดงออกด้วยการสื่อสาร  (Communication)  เพื่อให้ผู้ตามทราบถึงความคาดหวังสูงของผู้นำที่มีต่อผู้ตามและองค์การ  ด้วยการสร้างแรงดลใจ  สร้างแรงจูงใจภายใน  โดยการจูงใจให้ยึดมั่นและร่วมสานฝันต่อวิสัยทัศน์ขององค์การ  เป็นความสามารถในการโน้มน้าวจิตใจผู้ตามให้เปลี่ยนแปลงความสนใจในการกระทำเพื่อตนเองไปสู่การทำประโยชน์เพื่อกลุ่ม  รวมทั้งกระตุ้นจิตวิญญาณทีม  กระตุ้นจิตใจให้ผู้ตามได้รับการตอบสนองต่อความต้องการความสำเร็จ  ความต้องการอำนาจ  และความต้องการมิตรสัมพันธ์
  3. การกระตุ้นการใช้ปัญญา  (Intellectual  Stimulation)  เป็นพฤติกรรมของผู้นำแบบเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกด้วยการกระตุ้นให้เกิดการริเริ่มการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ  หรือหาวิธีการใหม่ ๆ  ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  ผู้นำมีการคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยใช้วิธีการฝึกคิดทวนกระแสความเชื่อ  และค่านิยมเดิมของตน  หรือของผู้นำ  หรือองค์การ  ผู้นำจะสร้างความท้าทายให้เกิดขึ้นแก่ผู้ตาม  จะให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ตามพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ
  4. การมุ่งความสัมพันธ์เป็นรายคน  (Individualized  Consideration)  เป็นพฤติกรรมของผู้นำที่มุ่งเน้นความสำคัญในการส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี  ด้วยการใส่ใจรับรู้  และพยายามตอบสนองต่อความต้องการเป็นรายบุคคลของผู้ตาม  ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเป็นผู้นำและช่วยทำให้ได้รับข้อมูลตลอดเวลาเป็นรากฐานในการตัดสินที่ดีขึ้น  ผู้นำจะแสดงบทบาทเป็นครู  พี่เลี้ยงและ
    ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ  ผู้นำเป็นผู้ฝึกสอน  และเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ตามแต่ละคน  ให้การช่วยเหลือผู้ตามได้พัฒนาระดับความต้องการสูงขึ้น

จากองค์ประกอบของพฤติกรรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  สรุปได้ว่า  คุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่สำคัญของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  จะมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ตาม  สร้างแรงจูงใจให้ผู้ตามมีแรงบันดาลใจ  สนับสนุนและกระตุ้นการใช้ปัญญาความคิดของผู้ตามในการทำงานและแก้ปัญหา  และให้ความสำคัญกับผู้ตามเป็นรายบุคคล  คอยให้กำลังใจและเป็นที่ปรึกษา  จะช่วยให้ผู้ตามมีความมั่นใจทั้งในผู้นำและตนเอง  พยายามทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา:

  • จตุรภัทร ประทุม. (2559). ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารการศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา.