<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

Educationก.ค.ศ.

ก.ค.ศ. | การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล
สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

อัญสุชา บุญขันตินาถ
ผู้อำานวยการภารกิจตรวจติดตามและประเมินผลการบริหารงานบุคคล

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1013/ ว 6 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 เรื่อง ทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล แจ้งเวียนกระทรวง กรม จังหวัด และหน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรกลางบริหารงานบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เร่งพัฒนาตนเองและสนับสนุนการพัฒนาผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง และให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลดังกล่าวไปปรับใช้ในการพัฒนาและเสริมสร้างกำลังคนในสังกัดเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป

สำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงขอนำข้อมูลในเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังให้เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับทราบและเตรียมเนื้อเตรียมตัวที่จะพัฒนาตนเองให้มีทักษะดิจิทัลกันนะคะ

ทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล เป็นทักษะทั่วไป (Generic Skill) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ ความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์และคุณลักษณะโดยความสามารถจะเป็นองค์ประกอบหลัก ส่วนความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะ เป็นองค์ประกอบเสริมเพื่อให้บุคคลมีความสามารถในการปฏิบัติตามบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวัง ทั้งนี้ ได้มีการนำสมรรถนะทางการบริหารของข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 4 สมรรถนะ คือ วิสัยทัศน์ การวางกลยุทธ์ภาครัฐ ศักยภาพเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง การสอนงานและมอบหมายงาน มาใช้เป็นองค์ประกอบเสริมด้วย

ในการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะจำแนกทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามความพร้อม และพัฒนาการของส่วนราชการและหน่วยราชการของรัฐ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น (Early Stage) ระยะกำลังพัฒนา (Developing Stage) และระยะพัฒนาแล้ว (Mature Stage) และจำแนกตามกลุ่มข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารส่วนราชการ (Executive) ผู้อำนวยการกอง (Management) ผู้ทำงานด้านนโยบายและวิชาการ (Academic) ผู้ทำงานด้านบริการ (Service) ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี (Technologist) และผู้ปฏิบัติงานกลุ่มอื่น (Others) โดยไม่จำแนกตามประเภทและระดับตำแหน่งของข้าราชการ

สำหรับการที่จะพิจารณาว่าข้าราชการและบุคลากรภาครัฐผู้ใด เป็นข้าราชการและบุคลากรภาครัฐในกลุ่มใด จะมีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นใด (ความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะ และมีบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังอย่างใด ให้พิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติของบุคคลผู้นั้น โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับบริบทการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานที่ผู้นั้นสังกัด และบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังในการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลของบุคคลผู้นั้นด้วย

ระยะเวลาของการดำเนินการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ระยะ ดังนี้

  • ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562 ครอบคลุมข้าราชการพลเรือนสามัญและผู้ปฏิบัติงานในกระทรวง กรม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ
  • ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครอบคลุมข้าราชการฝ่ายพลเรือน
  • ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ครอบคลุมข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ

ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนภาครัฐ เป็นรัฐบาลดิจิทัล นั้น ได้กำหนดทักษะที่ควรส่งเสริมและพัฒนา 5 มิติการเรียนรู้ 7 กลุ่มทักษะ ดังนี้

มิติที่ 1 รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีเป็น

  • ประกอบด้วย 1 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Skill Set)

มิติที่ 2 เข้าใจนโยบาย กฎหมายและมาตรฐาน

  • ประกอบด้วย 1 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะด้านการควบคุมกำกับ และการปฏิบัติตาม กฎหมายนโยบาย และมาตรฐานการจัดการด้านดิจิทัล (Digital Governance, Standard and Compliance Skill Set)

มิติที่ 3 ใช้ดิจิทัลเพื่อการประยุกต์และพัฒนา

  • ประกอบด้วย 2 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพ องค์กร (Digital Technology Skill Set) และกลุ่มทักษะด้านการออกแบบกระบวนการและการให้บริการด้วยระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาคุณภาพงานภาครัฐ (Digital Process and Service Design Skill Set)

มิติที่ 4 ใช้ดิจิทัลเพื่อการวางแผน บริหารจัดการและนำองค์กร

  • ประกอบด้วย 2 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะด้านการจัดการโครงการและการบริหารกลยุทธ์ (Project and Strategic Management Skill Set) และ กลุ่มทักษะด้านผู้นำดิจิทัล (Digital Leadership Skill Set)

มิติที่ 5 ใช้ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์

  • ประกอบด้วย 1 กลุ่มทักษะ ได้แก่ กลุ่มทักษะด้านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (Digital Transformation Skill Set)

ทั้งนี้ กลุ่มทักษะพื้นฐานที่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทุกคนควรได้รับการพัฒนา จะมีอยู่ 3 กลุ่มทักษะ ซึ่งจะอยู่ในมิติที่ 1 รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีเป็น กลุ่มทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Skill Set) และมิติที่ 2 เข้าใจนโยบาย กฎหมายและมาตรฐาน กลุ่มทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Skill Set) และกลุ่มทักษะด้านการควบคุมกำกับ และการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐาน การจัดการด้านดิจิทัล (Digital Governance, Standard and Compliance Skill Set) นั่นเอง

แล้ว ทักษะดิจิทัล (Digital literacy) คือ อะไร????

Digital literacy หรือ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หมายถึง ทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แทปเลต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กร ให้มีความทันสมัย และบุคลากรภาครัฐทุกคนจะต้องมีทักษะด้านดิจิทัลสำหรับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะดังกล่าวครอบคลุมความสามารถ 4 มิติ คือ 1) การใช้ (Use) 2) เข้าใจ (Understand) 3) การสร้าง (create) และ 4) เข้าถึง (Access) เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Digital literacy (ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) ประกอบด้วย 9 ด้าน ดังนี้

  • ทักษะขั้นพื้นฐาน
    • 1. การใช้งานคอมพิวเตอร์
    • 2. การใช้งานอินเทอร์เน็ต
    • 3. การใช้งานเพื่อความปลอดภัย
  • ทักษะขั้นต้นสำหรับการทำงาน
    • 4. การใช้โปรแกรมประมวลผลคำ
    • 5. การใช้โปรแกรมตารางคำนวณ
    • 6. การใช้โปรแกรมนำเสนอ
  • ทักษะประยุกต์สำหรับการทำงาน
    • 7. การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์
    • 8. การใช้โปรแกรมสร้างสื่อดิจิทัล
    • 9. การใช้ดิจิทัลเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
  • ที่มา : https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp

จุดสำคัญของการพัฒนากำลังคนภาครัฐให้มีทักษะดิจิทัล อยู่ที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐต้องพัฒนาตนเอง โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้และพัฒนา 70 : 20 : 10 (ร้อยละ 70 เรียนรู้ด้วยตนเองและจากการปฏิบัติงาน ร้อยละ 20 เรียนรู้จากผู้อื่นและการสอนงาน และร้อยละ 10 เรียนรู้จากการฝึกอบรม)

ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงต้องส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเพื่อให้มีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะดิจิทัล และสามารถดำเนินบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังในบริบทของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป แต่…กระบวนการ หรือวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้กันต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ

ที่มา:

  • อัญสุชา บุญขันตินาถ. (2562). การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. วารสาร ข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา. 39(1), 5-8.