<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

EducationIPSTวิทยาการคำนวณ

ยืน ภู่วรวรรณ | การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง

การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง

ยืน ภู่วรวรรณ

การเรียนการสอนคอมพิวติ้งของประเทศไทย ได้พัฒนาไปพอสมควรแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราประกาศหลักสูตรใหม่ คอมพิวติ้งในปี 2560 และเริ่มใช้หลักสูตร วิทยาการคำนวณ Computing มาแทนที่ เทคโนโลยีสารสนเทศ ในชั้น ป.1 ป.4 ม.1 ม.4 ในปี 2561 ในปีนี้ เป็นแปดชั้นปี และปีหน้าก็ครบทั้งสิบสองชั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และโอกาสที่ดี ที่โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอน ในเรื่องที่เป็นความสนใจของนักเรียน และเป็นความท้าทายที่นักเรียนอยากเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ เพราะนักเรียนมีทุนทางด้านดิจิทัลอยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีอยู่รอบๆตัวเขา เกี่ยวพันกับชีวิต

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอยู่ในทีมพัฒนาหลักสูตร พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน จัดตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียน จัดค่ายกิจกรรม และช่วยและให้คำปรึกษาในการทำหลักสูตรสถานศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณหลายแห่ง บรรยาย และให้แนวคิดเกี่ยวกับ การจัด กิจกรรมเพื่อการเรียนการสอน วิทยาการคำนวณ ให้คุณครู ในหลายที่ หลายโอกาส ได้เน้นให้เห็นว่า ข้อเด่นของวิชานี้ คือ รูปแบบของการจัดการศึกษาสามารถทำอยู่ในรูปแบบกิจกรรม ให้เหมาะกับนักเรียน และสามารถ บูรณาการกับวิชาอื่นๆได้ อีกทั้งการเรียนการสอนยังปรับตามบริบทของโรงเรียน ไม่ต้องทำตามหรือเหมือนกัน

ทำไมจึงใช้ชื่อ Computing หรือ วิทยาการคำนวณ แทน เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวติ้ง คือ การกระทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยใช้ประโยชน์จาก การวางลำดับขั้นตอนแบบคณิตศาสตร์ ที่รู้จักกันดีในเรื่อง อัลกอริทึม ตัวอย่างเช่น การทำกิจกรรม ที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ คำนวณ ประมวลผล จัดการข้อมูล การเข้าถึง ใช้ ข้อมูลข่าวสาร การใช้คอมพิวเตอร์สร้างระบบอัฉริยะ การประยุกต์ในงานด้านต่างๆ เช่น การใช้สื่อ ข้อมูล สารสนเทศ เพื่อประโยชน์ ต่างๆ รวมถึงเพื่อการบันเทิงด้วย นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรมการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ใช้ในการสื่อสาร อำนวยความสะดวก ระบบช่วยการทำงานด้านต่างๆที่มีผลในปัจจุบันและอนาคต ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณจึงกว้าง รวมถึง วิชาที่เกี่ยวกับ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ

วิทยาการคำนวณในหลักสูตร ว.4.2 ประกอบด้วย สามโดเมนความรู้ คือ กระบวนการคิด แก้ปัญหา อัลกอริทึม และเนื้อหาเกี่ยวกับ วิทยาการคอมพิวเตอร์ Computer science , พื้นฐานการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ ความรู้ทางด้าน Digital technology (ICT) และ พื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ กับการจัดการข้อมูล ข่าวสาร การสื่อสาร การใช้สื่อ การรู้เท่าทันสื่อ และข่าวสาร (Media and Information literacy) ซึ่งทั้งสามเรื่อง เป็นเรื่องพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับชีวิต ที่ทุกคนจะต้องใช้อยู่แล้ว

ในส่วนของ Computer science เป็นเรื่องพื้นฐานกระบวนการคิด ตั้งแต่การคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) การคิดวิเคราะห์ (Analytical) การวางลำดับขั้นตอนการคิด การแก้ปัญหา กระบวนการคิดแก้ปัญหา ที่เรียกว่า อัลกอริทึม เรื่องเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิด การทำอะไร ก็ จะมีขั้นตอนการทำ การเลือกการตัดสินใจ เมื่อไรจะทำอะไร อะไรทำพร้อมกันได้ ประสิทธิภาพของการทำอาหารเป็นอย่างไร เขียนลำดับขั้นตอนได้อย่างไร วัตถุประสงค์ ต้องการให้นักเรียน มองการแก้ปัญหาในชีวิตอย่างเป็นระบบ รู้จักลำดับขั้นตอน การตัดสินใจ การใช้เหตุและผลที่ตามมา

สำหรับการเรียนการสอนโค้ดดิ้งในประเทศไทย พัฒนาไปมาก เนคเทค ได้พัฒนา KidBright เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ช่วยในการทำกิจกรรมวิทยาการคำนวณ และแจกไปในโรงเรียนจำนวนหนึ่ง มีการจัดกิจกรรมต่างๆช่วยเสริม ยังร่วมมือกับ สสวท พัฒนาหนังสือประกอบกาารเรียนแต่ละชั้น ซึ่งใกล้นำออกมาใช้แล้ว และที่น่ายินดี คือ แพลตฟอร์มเพื่อการศึกษานี้พัฒนาโดยคนไทย มีการพัฒนาต่อเนื่อง และก้าวหน้าอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะมีคนไทย พัฒนาต่อยอด จนสามารถพัฒนาเครื่องมือ KB-IDE ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ดี ทำให้ การโค้ดดิ้งเป็นเรื่องสนุก ง่าย และใช้ในโรงเรียนได้ และมีโอกาสที่จะขยายวงออกสู่สากลได้ไม่ยาก

มองไปรอบๆ จึงน่ายินดีที่คนไทย ตื่นตัวกับการศึกษาและร่วมช่วยกันพัฒนา


ที่มา:

  • ยืน ภู่วรวรรณ. (2562). การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2562. จาก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10216925411385174&id=1162233576.