Site icon <Jaturapad>

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ใหม่

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว นั้น

บัดนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ดังต่อไปนี้

  1. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  2. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  3. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

และในวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562 เวลา 7.49 น. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายที่มอบให้กับผู้บริหารในครั้งนี้ เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่จะแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีวาระเร่งด่วนในหลายประเด็น ทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความสามารถและมีทักษะรองรับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21, การให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัย ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมเยาวชนตั้งแต่วันนี้ให้มีคุณภาพ พร้อมที่จะแบกภาระนำพาประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้

ส่วนเรื่องของการพัฒนาครู ก็มีความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยต่อยอดความสามารถในการสอน ที่จะส่งผลต่อความสามารถของเด็กโดยตรง รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของครูไทยดีขึ้น ให้ครูมีกำลังใจในการทำหน้าที่แม่พิมพ์และพ่อพิมพ์ของชาติ พร้อมปรับหลักสูตรการศึกษาให้เข้ากับโลกดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเรียนการสอน สื่อ และวิธีการสอน

สิ่งสำคัญคือ การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้บริหารกระทรวง เพื่อต่อยอดและบูรณาการแนวคิดในการพัฒนากับข้อมูลและสิ่งที่กระทรวงดำเนินการไว้แล้ว พร้อมศึกษาเพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนที่จะนำมาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งส่งเสริมต่อยอดนโยบายที่ดี และแก้ไขปรับปรุงบางเรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จ รวมทั้งจะรับฟังเสียงสะท้อนจากเขตพื้นที่การศึกษา ข้าราชการ และครู พร้อมดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างจะมีการวัดและประเมินผล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้เห็นผลชัดขึ้นภายในระยะเวลา 1 เดือนต่อจากนี้

คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มีความยินดีที่จะนำความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการศึกษาไทย โดยเฉพาะในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อผลักดันให้เกษตรกรก้าวไปสู่การเป็น Smart Farmer และการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบผลิตและการบริหารจัดการ รวมทั้งดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วย ทั้งสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ และชุมชน

นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีการเรียนคอมพิวเตอร์ (Coding) ซึ่งเป็นโปรแกรมการสื่อสารใหม่ของโลกในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งขณะนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้การอบรมครูเกี่ยวกับตรรกะพื้นฐานสำหรับการเรียน Coding โดยในระยะแรกอาจจัดอบรมให้กับครูที่มีความพร้อมเป็นกลุ่มโรงเรียนในแต่ละภูมิภาคก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งนี้ การเรียน Coding จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครู แต่จะสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกับครูและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานด้านการศึกษา ต้องการจะพัฒนาประสิทธิภาพงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเริ่มจากนโยบาย วิสัยทัศน์ และแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานอยู่แล้ว เพื่อให้นักเรียนมีความสุข ครูมีกำลังใจในการสอน และการศึกษาก้าวไปข้างหน้าและสามารถแข่งขันได้ โดยมีแนวคิดจะดำเนินงานในหลายส่วน อาทิ การทำให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มากขึ้น ทั้งวิธีการเข้ามาเรียน หลักสูตรพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ วิธีการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา, การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี พร้อมสร้างภาพลักษณ์และความภาคภูมิใจแก่เด็กอาชีวะ, การพัฒนาการปลูกฝังระเบียบวินัยและความเป็นพลเมืองดี แก่ลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด อย่างมีความสุข ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพื่อให้ครูมีความสุขและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนต่อไป

ที่มา: 

 

Exit mobile version