Beartai | Google เผยเบื้องหลังการทำของ Google Maps เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทั่วโลก
ในขณะที่ในทุก ๆ วัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีการสร้างถนนและอาคารเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทของทีม Google Maps คือการสร้างแบบจำลองที่ถูกต้องและสะท้อนให้เห็นถึงโลกที่มีการพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งในการทำแผนที่ ทีม Google Maps มีการทำงานหลากหลายขั้นตอน รวมไปถึงการผสมผสานที่ลงตัวของสมาชิกในทีม เทคนิค และเทคโนโลยี
ขั้นตอนแรกของการทำแผนที่เริ่มต้นด้วยภาพ ซึ่ง Street View และภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นส่วนสำคัญในการระบุสถานที่ต่าง ๆ ในโลกมาโดยตลอด โดยแสดงให้เราเห็นถึงถนน อาคารสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ และธุรกิจที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาค นอกเหนือจากรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ เช่น การจำกัดความเร็วในเขตเมืองต่าง ๆ หรือชื่อธุรกิจ
ในปี พ.ศ. 2550 Google ได้เปิดตัว Street View เพื่อช่วยให้ผู้คนสำรวจสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในโลกเสมือนจริง ตั้งแต่ส่วนลึกของทวีปแอนตาร์กติกาไปจนถึงยอดเขาคิลิมันจาโร ซึ่งในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา รถ Street View และ เครื่องมือเก็บภาพที่เรียกว่า Street View Trekker ได้รวบรวมภาพมากกว่า 170 พันล้านภาพจาก 87 ประเทศทั่วโลก และเพราะ Street View Trekker รุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงและมีรูรับแสงที่กว้างขึ้น จึงทำให้ภาพที่ถ่ายมาได้นั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
Street View Trekker
หลังจากการเริ่มต้นด้วยภาพ ถัดมาคือการใส่ข้อมูล ข้อมูลที่เชื่อถือได้ทำให้แผนที่มีชีวิต ข้อมูลของ Google Maps มาจากแหล่งบุคคลที่สามมากกว่า 1,000 รายจากทั่วทุกมุมโลก แหล่งข้อมูลบางราย เช่น สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ (USGS) และสถาบันสถิติและภูมิศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก (INEGI) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทั้งประเทศ ในขณะที่รายอื่น ๆ ให้ข้อมูลเฉพาะสำหรับภูมิภาคเล็ก ๆ เช่น ข้อมูลจากเทศบาลท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน หรือผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทั้งนี้ ทีมงานของ Google Maps ได้ตรวจสอบทุกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ Google ได้แนะนำเครื่องมือใหม่ที่ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถอัปโหลดข้อมูลเกี่ยวกับถนนและที่อยู่ใหม่ ๆ ในพื้นที่ของพวกเขาใน Google Maps ได้โดยตรงและง่ายขึ้น
โครงร่างถนนจากข้อมูลของสถาบันสถิติและภูมิศาสตร์แห่งชาติของเม็กซิโก
นอกจากข้อมูลและภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างแผนที่แล้ว ส่วนสำคัญส่วนที่สามก็คือ ผู้คนที่ช่วยรวบรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน Google Maps มีทีมงานด้านข้อมูลอยู่ทั่วโลก ที่มีบทบาทในการทำแผนที่ทุกด้าน ตั้งแต่การรวบรวมภาพ Street View และการตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไปจนถึงการแก้ไขแผนที่ที่ไม่ถูกต้อง และฝึกฝนโมเดลแมชชีน เลิร์นนิง
นอกจากนี้ยังมีชุมชน Local Guides และผู้ใช้ Google Maps ที่คอยช่วยเหลือในการแก้ไขแผนที่ผ่านการส่งความคิดเห็นใน Google Maps จากนั้นทีมงาน Google Maps จะตรวจสอบข้อมูลและทำการเผยแพร่หากมีความมั่นใจในระดับสูงว่าข้อมูลที่ได้รับตรงกับถนน ธุรกิจ และที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
การทำงานของทีมงานด้านข้อมูล
และเพื่อให้ข้อมูลแผนที่มีประโยชน์กับผู้คนจำนวนมากขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม Google Maps ได้หันมาใช้ประโยชน์จากแมชชีน เลิร์นนิง โดยแมชชีน เลิร์นนิงทำให้ทีม Google Maps สามารถสร้างแผนที่ได้โดยอัตโนมัติ ในขณะที่ยังคงมีความแม่นยำในระดับสูง
ก่อนหน้านี้อัลกอริทึมที่พยายามคาดเดาว่าส่วนหนึ่งของรูปภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “สิ่งปลูกสร้างที่คลุมเครือ” ซึ่งเป็นรูปสัณฐานที่ไม่เหมือนสิ่งปลูกสร้างจริงเมื่อถูกนำไปใส่ในแผนที่ และนี่คือปัญหา ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ Google Maps ได้ร่วมมือกับทีมงานด้านข้อมูลเพื่อติดตามโครงร่างสิ่งปลูกสร้างทั่วไปด้วยตนเอง จากนั้นใช้ข้อมูลนี้เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมของแมชชีน เลิร์นนิง เพื่อให้ระบุว่าภาพใดสอดคล้องกับขอบและรูปร่างของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเทคนิคนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยภายในเวลาเพียง 1 ปี ทีม Google Maps สามารถทำแผนที่สิ่งปลูกสร้างได้มากเท่ากับที่ทำใน 10 ปีที่ผ่านมา
โครงร่างสิ่งปลูกสร้างที่คลุมเครือใน Google Maps
รูปหลายเหลี่ยมของสิ่งปลูกสร้างที่มีความชัดเจนใน Google Maps
เห็นได้ชัดว่า Google Maps มีความสำคัญต่อการเติบโตของชุมชนต่าง ๆ โดยช่วยเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นเมื่อผู้คนค้นพบธุรกิจและร้านอาหารใหม่ ๆ และแม้ว่าปัจจุบันแผนที่บน Google Maps จะครอบคลุมกว่า 220 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว แต่ทีม Google Maps ก็ยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยเพราะแต่ละภูมิภาคมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป
ที่มา:
- Piyapatr Panyasawanglert. (2562). Google เผยเบื้องหลังการทำของ Google Maps เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทั่วโลก. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2562. จาก https://www.beartai.com/article/tech-article/342613.
You must be logged in to post a comment.