ข้อแนะนำในการสังเกตข่าวปลอมออนไลน์
ทุกวันนี้ การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้การสร้าง โพสต์ แชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถรายงานข่าว ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวีดิโอ
อย่างไรก็ตามนั่นทำให้ข่าวปลอมหรือข่าวลวง ถูกเผยแพร่อย่างมากมาย ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อจำนวนมากและแชร์ต่อ ๆ กันก็อาจทำให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในการสังเกตว่าข่าวได้รับนั้นเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ผู้ใช้อาจพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าวโดยอาศัยข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- พิจารณาความน่าเชื่อถือเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าว หากพบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่มีเพียงไม่กี่หน้าเว็บไซต์ ไม่ระบุที่อยู่ติดต่อ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม
- ตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
- บ่อยครั้งที่ข่าวปลอมมักจะใส่ภาพจากข่าวเก่า ที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ ผู้ใช้อาจพิจารณาใช้งานบริการค้นหาเว็บไซต์จากรูปภาพของ TinEye หรือ Google Reverse Image Search (คลิปสาธิตการใช้งาน thcert.co/2NwdBa) เพื่อค้นหาว่ารูปดังกล่าวปรากฎอยู่ในข่าวเก่าหรือไม่
- ตรวจสอบโดยการนำชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหาใน Google ซึ่งจากผลลัพธ์การค้นหา ผู้ใช้อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรือดูวันที่เผยแพร่ข่าว อาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ถูกเผยแพร่เมื่อในอดีต
- ผู้ใช้อาจพิจารณาขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโดยการสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ
ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียหลายรายได้มีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถแจ้งหากพบข่าวปลอม (วิธีการแจ้งข่าวปลอม thcert.co/S7ACML)
นอกจากนี้หากผู้ใช้พบข่าวบนโซเชียลมีเดีย และพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นข่าวปลอมแต่ยังไม่แน่ใจ ทางที่ดีสุดเพื่อป้องกันความผิดพลาดควรหลีกเลี่ยงการแชร์เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
#เอ็ตด้า #ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย #ETDATHAILAND
ที่มา
- ETDA Thailand. (2562). “ข่าวปลอม (Fake News) ออนไลน์ สังเกตยังไง? ก่อนเชื่อและแชร์”. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2562. จาก https://www.facebook.com/ETDA.Thailand/posts/2838787926134765.