Site icon <Jaturapad>

เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ เน้น “ลดความซ้ำซ้อน-ขอผ่านออนไลน์-เน้นผลปฏิบัติงานครู-ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”

เลขาธิการ ก.ค.ศ. เผยความก้าวหน้าเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ วางกรอบ 4 ด้าน “ลดความซ้ำซ้อน-ขอผ่านออนไลน์-เน้นผลปฏิบัติงานครู-ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุง (ร่าง) หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ดำเนินการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยปัญหาและเสนอแนวทางการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ และคณะอนุกรรมการจัดทำวิทยฐานะใหม่ โดยใช้กรอบแนวคิดของ รมว.ศึกษาธิการ คือ “ไม่เน้นการเขียนเอกสารผลงานวิชาการ แต่ให้พิจารณาจากการปฏิบัติจริง”

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินบุคคลภายในและต่างประเทศมาให้ข้อคิดเห็น ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่า การประเมินวิทยฐานะในอนาคต จะไม่เน้นการพิจารณาเอกสาร แต่จะเน้นผลการปฏิบัติงาน โดยวางกรอบแนวทางประเมินวิทยฐานะใหม่ไว้ 4 ข้อ คือ

  1. ลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน เช่น จะมีการประเมินวิทยฐานะของครูไปพร้อมกับเงินเดือน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA)
  2. นำระบบออนไลน์มาใช้ในการขอรับการการประเมิน ไม่ต้องยื่นเอกสารและกระดาษในการประเมินอีกต่อไป ขั้นตอนการยื่นประเมินจะเป็นมิตรกับครูมากขึ้น ซึ่งสถานศึกษาจะทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์โดยผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะมีวงรอบการประเมินตามระบบการเลื่อนเงินเดือน คือ เดือนเมษายนและตุลาคม
  3. ผลการประเมินต้องลงไปที่ผลการปฎิบัติงานของครู ซึ่งพิจารณาจากหน้างานของครู เช่น คุณภาพในห้องเรียน
  4. ผลการประเมินนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแค่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน แต่จะรวมไปถึงการคิดวิเคราะห์ให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 รวมถึง Soft Skill และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในอนาคต

นอกจากนี้ เกณฑ์ใหม่จะบ่งบอกถึงการทำงานข้างหน้าว่าเราจะทำอะไร และจะมีการประเมินเป็นระยะ ๆ ต่างจากเกณฑ์ปัจจุบันซึ่งนำเรื่องที่ผ่านมามาจัดทำผลงานทางวิชาการ

ในส่วนของการคงวิทยฐานะของครู ได้กำหนดไว้ทุก 5 ปี เมื่อครบกำหนดคงวิทยฐานะแล้ว หากครูต้องการทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น เช่น ชำนาญการเป็นชำนาญการพิเศษ จะมีการพิจารณาประสิทธิภาพ (Performance) จาก 3 องค์ประกอบ คือ

  1. คลิปการสอนที่ดีที่สุดของครู
  2. แผนจัดการเรียนรู้ประกอบคลิปที่สอน
  3. ผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก

โดยส่งผ่านระบบออนไลน์ และจะใช้เวลาพิจารณาผลการประเมินเร็วมาก ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น หากครูไม่ผ่านการประเมิน ก็สามารถส่งใหม่ได้

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. จะนำกรอบแนวคิดการประเมินวิทยฐานะใหม่ ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครู จากนั้นจะนำมาจัดทำเป็นหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ และประกาศใช้ต่อไป

คาดว่าจะทันใช้ในปีการศึกษา 2564

ที่มา:

บัลลังก์ โรหิตเสถียร (ศธ.360 องศา). (2563). เลขาธิการ ก.ค.ศ. เผยความก้าวหน้าเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ วางกรอบ 4 ด้าน “ลดความซ้ำซ้อน-ขอผ่านออนไลน์-เน้นผลปฏิบัติงานครู-ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน”. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2563, จาก https://moe360.blog/2020/10/27/academic-standing/.

Exit mobile version