<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

EducationNews

หลักการและแนวปฏิบัติ “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ประกาศนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาในทุกมิติ โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และกำหนดแนวทางให้หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ นำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย คือ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำแนวทาง “การลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” สำหรับครูผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการมอบหมายการบ้านแก่ผู้เรียนให้มีความเหมาะสม และใช้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้และประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อีกทางหนึ่ง

จึงให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เน้นย้ำให้สถานศึกษาในกำกับ ดำเนินการให้การมอบหมายการบ้านแก่นักเรียนเป็นไปอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างสูงสุด

หลักการลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้

หลักการลดการบ้าน

  1. ลดการบ้าน/ภาระงานที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำนอกห้องเรียนหรือที่บ้าน โดยเน้นให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมให้เสร็จในห้องเรียน
  2. มอบหมายการบ้านเฉพาะวิชาที่เป็นทักษะที่จำเป็น เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ โดยสามารถให้การบ้านให้เหมาะสมได้เท่าที่จำเป็น โดยเน้นการบ้านที่ส่งเสริมการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น
  3. บูรณาการการบ้านทั้งภายในรายวิชาเดียวกันและข้ามรายวิชา โดยให้เป็นชิ้นงาน/ภาระงานเดียว ตามความเหมาะสมธรรมชาติวิชา

เพิ่มการเรียนรู้

  • ปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนคิด ปฏิบัติผ่านสถานการณ์จริง ส่งเสริมกระบวนการคิดการแสวงหาความรู้ (Active Learning) ลดเวลาการสอนของครูในห้องเรียนให้น้อยลง โดยเพิ่มเวลาให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

แนวปฏิบัติ“ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้”

  1. มอบหมายการบ้าน ให้เหมาะสมเท่าที่จำเป็นตามจุดเน้นการเรียนรู้ เพื่อให้การบ้านมีความสำคัญและฝึกหรือทบทวนอย่างมีเป้าหมาย รวมทั้งกำหนดแนวทางการตรวจสอบผลการเรียนรู้จากคุณลักษณะหรือ พฤติกรรมของผู้เรียน เพื่อทดแทนการสอบด้วยแบบทดสอบอย่างเหมาะสม และตามความจำเป็น
  2. ตรวจสอบปริมาณการบ้าน ของนักเรียนรายห้องเรียน เพื่อให้การมอบหมายการบ้านมีความเหมาะสมกับระยะเวลาที่ใช้ทำการบ้านของนักเรียนแต่ละวัย
  3. บูรณาการเนื้อหาการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้และระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อทำให้เวลาเรียนในห้องเรียนลดลงร้อยละ 10-20 นักเรียนมีเวลาในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามความสนใจมากขึ้น
  4. วางแผนกำหนดช่วงเวลาให้การบ้านและการสอบ เป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความทับซ้อน ทั้งด้านปริมาณและระยะเวลาที่ใช้ในการทำการบ้าน การสอบ ตลอดจนพิจารณาความเหมาะสมตามพัฒนาการของนักเรียนแต่ละช่วงวัย
  5. ออกแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้ ให้มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกันระหว่างช่วงเวลาที่นักเรียนเรียนรู้ที่โรงเรียนและบ้าน ตัวอย่างเช่น เนื้อหาที่เป็นแนวคิดหรือหลักการ จำเป็นต้องใช้การทำความเข้าใจและการอธิบายเพิ่ม ควรเป็นช่วงเวลาที่เด็กเรียนในห้องเรียน จากนั้นมอบหมายให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องที่บ้าน การบ้านที่มอบหมายควรต่อเนื่องกับเรื่องที่เรียนมาแล้ว ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้และทบทวนได้ด้วยตัวเอง และมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
  6. ลดจำนวนครั้งของการสอบระหว่างเรียน ประเมินเท่าที่จำเป็น โดยเน้นการประเมินเพื่อปรับปรุงข้อสอบปลายภาค ให้เน้นข้อสอบที่วัดทักษะการคิดขั้นสูง ที่ประกอบด้วยสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ มีข้อคำถามที่ยั่วยุให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และคิดสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขียนแสดงเหตุผล แนวคิด หรือหลักการตามความเหมาะสมในแต่ละระดับชั้น
  7. จัดเตรียมแหล่งเรียนรู้ สำหรับนักเรียนศึกษาค้นคว้าที่หลากหลาย โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
  8. ส่งเสริมให้นักเรียนคัดสรรผลงาน ที่แสดงถึงพัฒนาการ และสมรรถนะของนักเรียน ใส่ลงในแฟ้มสะสมผลงาน ตามจุดมุ่งหมาย ได้แก่ การศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบสื่อดิจิทัล เช่น วีดิทัศน์ ภาพถ่าย เพลง เป็นต้น

ที่มา:

  • ศธ.360 องศา. (2566). หลักการและแนวปฏิบัติ “ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้” ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566 จาก https://moe360.blog/2023/12/16/p161266/.