การวิจัย (Research)
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย
การวิจัยคืออะไร
ความหมายของการวิจัย (research) นี้ มีผู้ที่อยู่ในวงการวิจัยให้คำนิยามไว้มากมาย พอจะประมวลได้ดังนี้
การวิจัย เป็นกระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างมีระบบระเบียบและมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพื่อให้ได้ความรู้ที่เชื่อถือได้ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2535: 14)
การวิจัย คือกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือการพยายามค้นหาคำตอบ หรือหาความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยใช้วิธีการศึกษาอย่างมีระเบียบและมีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ (scientific methods) (นันทวัน สุชาโต, 2537: 7)
การวิจัย คือกระบวนการแสวงหาหรือพัฒนาองค์ความรู้ที่มีลักษณะเป็นนัยทั่วไปอย่างมีระบบแบบแผนโดยวิธีการอันเป็นที่เชื่อถือได้ (ศิริชัย กาญจนวาสี, 2540: 2)
การวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ต้องการศึกษา มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบ ข้อมูล การวิเคราะห์และการตีความหมายผลที่ได้จากการวิเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบอันถูกต้อง (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์, 2540: 1)
หากพิจารณาจากความหมายของการวิจัยดังกล่าว จะเห็นว่าการวิจัยเป็นการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
การวิจัยมีกี่ประเภท
การจำแนกประเภทของการวิจัยสามารถจัดทำได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้จำแนกว่าจะอาศัยเกณฑ์หรือหลักการใดในการจำแนก ซึ่งแนวทางในการจัดจำแนกตามเกณฑ์ต่างๆ มีดังนี้ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2535: 17-21)
- ประเภทของการวิจัยแบ่งตามประโยชน์ของการนำผลไปใช้ แบ่งตามเกณฑ์นี้จะมี 3 ประเภท ได้แก่
- การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ (basic or pure research) การวิจัยแบบนี้เป็นการทำวิจัยเพื่อขยายขอบเขตของความรู้ให้กว้างขวางออกไป เป็นการสร้างทฤษฎีและแนวความคิดใหม่ๆ เสริมสร้างวิชาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์มุ่งหาสารอาหารในกล้วย โดยมุ่งหาว่ากล้วยประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้างเท่านั้น การวิจัยแบบนี้ มักจะใช้เวลานาน และใช้ประโยชน์ได้ต่อเมื่อไปวิจัยต่อ
- การวิจัยประยุกต์ (applied research) การวิจัยแบบนี้มุ่งนำผลไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพของสังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น เช่น จากผลการวิจัยพื้นฐานพบว่า การสอนด้วยวิธีการใช้สไลด์ประกอบจะทำให้นักเรียนสนใจการเรียนและจำได้นาน ครูก็ลองนำผลการวิจัยนี้ไปทดลองและหาประสิทธิภาพของการสอนดูว่าทำให้นักเรียนสนใจมากขึ้น และนักเรียนจำเรื่องราวที่สอนได้นานจริงหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีประสิทธิภาพก็จะทำให้ครูนำไปใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนต่อไป
- การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) การวิจัยแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ และนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานโดยตรง เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในการทำงาน โดยหวังที่จะปรับปรุง แก้ไขสภาพการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม การวิจัยแบบนี้แท้จริงเป็นการวิจัยประยุกต์ลักษณะหนึ่ง แต่ต่างกับการวิจัยประยุกต์ทั่วไปตรงที่การวิจัยเชิงปฏิบัติการจะศึกษาเฉพาะที่ เฉพาะหน่วยงาน ผลการวิจัยนำไปใช้สรุปอ้างอิงไปยังกลุ่มอื่นหรือ ประชากรไม่ได้
- ประเภทของการวิจัย แบ่งตามวัตถุประสงค์และวิธีการเสนอข้อมูล การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
- การวิจัยขั้นสำรวจ (exploratory research) เป็นการวิจัยที่ต้องการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อหาข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นเท่านั้น ไม่มีการตั้งสมมติฐาน และไม่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลในลักษณะตัวแปรที่แตกต่างกัน
- การวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) เป็นการวิจัยที่ต้องการหาคำตอบว่าอะไรและอย่างไรมากกว่าที่ต้องการหาคำตอบว่าทำไม รวมทั้งไม่มีการคาดคะเนปรากฏการณ์ในอนาคตแต่อย่างไร การวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะมีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวแปรที่ศึกษาด้วย
- การวิจัยเชิงอรรถาธิบาย (explanatory research) เป็นการวิจัยที่พยายามชี้หรืออธิบายให้เห็นว่าตัวแปรใดมีความสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องกับตัวแปรใดบ้าง และความสัมพันธ์นั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นเหตุผลของกันและกันหรือไม่
- การวิจัยเชิงคาดคะเน (predictive research) เป็นการวิจัยที่พยายามชี้ให้เห็นหรือคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษา
- การวิจัยเชิงวินิจฉัย (diagnostic research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น จะได้นำไปแก้ไขป้องกันได้ถูกต้อง
- ประเภทของการวิจัย แบ่งตามความสามารถในการควบคุมตัวแปร การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยจัดสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาทดลอง โดยพยายามควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ต้องการให้มีผลกับการวิจัยนั้นออกไป แล้วสังเกตหรือวัดผลการทดลองออกมา
- การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (quasi experimental research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยสามารถสร้างสถานการณ์ และเงื่อนไขเพื่อใช้ในการทดลองได้บ้างเป็นบางประเด็นและสามารถควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ต้องการให้มีผลกับการวิจัยนั้นได้เพียงบางตัวเนื่องจากไม่สามารถสุ่มตัวอย่างให้เท่ากันได้
- การวิจัยเชิงธรรมชาติ (naturalistic research) เป็นการวิจัยที่ไม่มีการจัดสร้างสถานการณ์หรือเงื่อนไขใดๆ เลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้วิจัยไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการวิจัยที่ได้นั้นเลย
- ประเภทของการวิจัยแบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัย การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (historical research) เป็นการวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะของการศึกษาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อสืบประวัติความเป็นมาเชิงวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ ทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น และหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน เพื่อใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต
- การวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) เป็นการวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีการบรรยายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร และมีลักษณะอย่างไร ซึ่งมุ่งศึกษาหาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนั้น รวมทั้งศึกษาหาความสัมพันธ์ของการปฏิบัติ แนวคิดหรือเจตคติโดยเน้นถึงเรื่องราวในปัจจุบันเป็นสำคัญ
- การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงด้วยการทดลองภายใต้การควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องอย่างมีระเบียบแบบแผนและมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนและสามารถกระทำซ้ำเพื่อพิสูจน์หรือทดสอบผลอีกได้
- ประเภทของการวิจัย แบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัยทั่วไป การวิจัยอาจแบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัยทั่วๆ ไป ซึ่งแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้
- การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research)
- การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (historical research)
- การวิจัยเชิงย้อนรอย (expost facto research) เป็นการวิจัยที่ศึกษาจากผลไปหาเหตุ ซึ่งทั้งผลและเหตุเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว วิธีการศึกษาจะเริ่มจากกำหนดผลหรือตัวแปรตามก่อนแล้วค่อยค้นหาสาเหตุ ซึ่งเป็นตัวแปรอิสระที่ทำให้เกิดผล ตัวแปรตามนั้น เช่น การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการไปประกอบอาชีพในประเทศตะวันออกกลางของชายไทย ผลที่เกิดขึ้นก็คือการไปประกอบอาชีพในประเทศตะวันออกกลางของชายไทย ซึ่งเดินทางไปแล้ว จากนั้นตามไปศึกษาว่าทำไมเขาจึงต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศตะวันออกกลาง มีเหตุหรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาไป
- การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) เป็นการศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วบรรยายสถานภาพที่ปรากฏอยู่ มีอยู่นั้นให้ทราบและอาจจะเปรียบเทียบกับสถานภาพที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ในลักษณะต่างๆ หรือเงื่อนไขต่างกันและจะเปรียบเทียบกับสถานภาพที่เป็นมาตรฐานก็ได้ โดยไม่สนใจว่า ทำไมจึงมีสถานภาพปรากฏอยู่ มีอยู่อย่างนั้น
- การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic research) เป็นการวิจัยที่มุ่งอธิบายสภาพการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรวมๆ ว่ามีความเป็นมาและพัฒนาการไปอย่างไร มีลักษณะคล้ายกับการวิจัยเชิงคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว
- การวิจัยเชิงประเมินผล (evaluative research) เป็นการวิจัยที่มุ่งพิจารณากำหนดคุณค่าหรือระดับความสำเร็จของกิจกรรม และเสนอแนะสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่อไป ปกติการวิจัยเชิงประเมินผลจะมุ่งหาคำตอบของปัญหาหลัก 3 ประการ คือ
- โครงการนั้นประสบผลสำเร็จเพียงใด
- โครงการนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด
- กิจกรรมที่ทำตามโครงการนั้นควรจะทำต่อไปหรือไม่
- ประเภทของการวิจัยแบ่งตามลักษณะของข้อมูล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- การวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) หมายถึงการวิจัยที่เน้น (ก) ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบและข้อสรุปต่างๆ ของเรื่องที่ทำการศึกษา และ (ข) ความใช้ได้กว้างขวางทั่วไปของข้อค้นพบ (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์,2540:24-25)
- การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นอธิบายปราฏการณ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับสภาพแวดล้อม โดยอาศัยมิติทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลักในการศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์นั้น
- ประเภทของการวิจัย แบ่งตามสาขาวิชาการต่างๆ ของสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มวิชาการต่างๆ ดังนี้ (ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2540: 3)
- สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกและอวกาศ ธรณีวิทยา อุทกวิทยา สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ฟิสิกส์ของสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทยศาสตร์ สาธารณสุข เทคนิคการแพทย์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์การแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประกอบด้วยกลุ่มวิชาอนินทรีย์เคมี อินทรีย์เคมี ชีวเคมี เคมีอุตสาหกรรม อาหารเคมี เคมี โพลิเมอร์ เคมีวิเคราะห์ ปิโตรเคมี เคมีสิ่งแวดล้อม เคมีเทคนิค นิวเคลียร์เคมี เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีชีวภาพ เภสัชเคมีและเภสัชวิเคราะห์ เภสัช- อุตสาหกรรม เภสัชกรรม เภสัชวิทยาและพิษวิทยา เครื่องสำอาง เภสัช-เวท เภสัชชีวภาพ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประกอบด้วยกลุ่มวิชาทรัพยากรพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทรัพยากรสัตว์ ทรัพยากรประมง ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ระบบเกษตร ทรัพยากรดิน ธุรกิจการเกษตร วิศวกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตร วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประกอบด้วยกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมวิจัยและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาปรัชญา ประกอบด้วยกลุ่มวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปกรรม ภาษา สถาปัตยกรรม ศาสนาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขานิติศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชน กฎหมายอาญา กฎหมายเศรษฐกิจ กฎหมายธุรกิจ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายวิธีพิจารณาความและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายศาสตร์ อุดมการณ์ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง ชีวิตทางการเมือง รัฐประศาสนศาสตร์ มติสาธารณะ ยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคง เศรษฐศาสตร์การเมือง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ บริหารธุรกิจ การบัญชี และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาสังคมวิทยา ประกอบด้วย กลุ่มวิชาสังคมวิทยา ประชากรศาสตร์ มานุษยวิทยา จิตวิทยาสังคม ปัญหาสังคม และสังคมสงเคราะห์ อาชญาวิทยา กระบวนการยุติธรรม มนุษย์นิเวศวิทยาและนิเวศวิทยาสังคม พัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิศาสตร์สังคม การศึกษาความเสมอภาคระหว่างเพศ คติชนวิทยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม การสื่อสารด้วยดาวเทียม การสื่อสารเครือข่าย การสำรวจและรับรู้จากระยะไกล ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ นิเทศศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ เทคนิคพิพิธภัณฑ์และภัณฑาคาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สาขาการศึกษา ประกอบด้วยกลุ่มวิชาพื้นฐานการศึกษา หลักสูตรและการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา บริหารการศึกษา จิตวิทยาและแนะแนวการศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาพิเศษ พลศึกษา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการวิจัยมีอะไรบ้าง
การวิจัยเป็นการศึกษาที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็น หลักการในการดำเนินการวิจัย ซึ่งกระบวนการในการทำวิจัยนี้ อุทุมพร จามรมาน (2533: 3) กล่าวว่าเปรียบเสมือนลูกโซ่ แต่ละลูกสำคัญเท่ากัน เริ่มตั้งแต่การเลือกปัญหามาวิจัย การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัย การทำวิจัย การสรุปผลการวิจัยและการอภิปรายผลวิจัย
สำหรับขั้นตอนการวิจัยโดยทั่วไป ประกอบด้วยลักษณะการดำเนินงานที่สำคัญ 7 ขั้นตอนดังนี้
- การกำหนดปัญหาการวิจัย
- การทบทวนวรรณกรรม
- การตั้งสมมติฐาน
- การออกแบบการวิจัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- การจัดทำและนำเสนอรายงานการวิจัย
คุณสมบัติของนักวิจัยที่ดีมีอะไรบ้าง
นักวิจัยที่ดีคือผู้ที่รู้เนื้อหาที่จะวิจัยอย่างดี รู้วิธีการวิจัย มีจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ในการทำวิจัย มีความคิดที่กระจ่าง ชัดเจน เป็นระบบ มีขั้นตอน และมีความสามารถในการสื่อความหมายที่กระชับ ชัดเจน ถูกต้อง (precise) ตรงเวลา และตัดสินใจเป็น (เรื่องเดียวกัน: 4)
เนื่องจากงานวิจัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งกระทำได้ไม่ง่ายนัก นักวิจัยจึงควรมีคุณลักษณะบางประการในการดำเนินการวิจัยเพื่อให้ผลของการวิจัยถูกต้อง น่าเชื่อถือ ดังนี้ (จรัส สุวรรณเวลา, 2528:13-15)
คุณลักษณะประการแรก คือ การมีความสงสัย หรือเป็นผู้ที่มีแนวความคิดในการไม่เชื่อสิ่งต่างๆ ง่ายๆ จำเป็นต้องมีหลักฐานและมีเหตุผล อันนี้จะตรงกันข้ามกับคนบางจำพวกที่มีความเชื่อเป็นตัวตั้ง และสามารถจะเชื่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย นักวิจัยจำเป็นจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยมีวิจารณญาณ ฟังหูไว้หู เมื่อมีสิ่งใดใหม่ก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุผลให้ถ่องแท้ก่อนจึงจะเชื่อ
คุณลักษณะประการที่สอง ที่มาประกอบกับลักษณะดังกล่าว คือ การมีวิจารณญาณ นักวิจัยจะต้องมีความสามารถในการใช้เหตุผล ความสามารถในการไตร่ตรองเพื่อจะพิจารณาแยกแยะสิ่งที่ควรเชื่อกับสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ สิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในการใช้วิจารณญาณนั้นจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในแต่ละเรื่องที่พิจารณาและมีความสามารถในการใช้เหตุผลไตร่ตรอง ทั้งในเชิงตรรกวิทยาและในเชิงของวิธีใช้ความคิดด้านอื่นๆ
คุณลักษณะประการที่สาม คือ การมีใจกว้าง ไม่ยึดมั่นในความคิดของตนเองว่าต้องถูกเสมอไป จะต้องเป็นผู้ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นหรือข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมและหากหลักฐานนั้นเป็นที่เชื่อถือได้ มีเหตุผลเพียงพอ ก็ไม่มีทิฐิที่จะยึดความเชื่อเดิม มีความสามารถที่จะยอมเปลี่ยนแนวความคิดของตนเองได้ ความเป็นผู้มีใจกว้างนี้จะต้องครอบคลุมไปถึงความสามารถในการรับฟังความเห็นผู้อื่น ตลอดจนความสามารถที่จะได้ความคิดเห็นในสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ หรือมีอคติน้อยที่สุด
คุณลักษณะประการที่สี่ คือ ความเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ การวิจัยมิใช่เป็นการเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือแนวคิดใหม่ขึ้น ผู้วิจัยจะต้องสามารถเอาข้อมูลหรือสิ่งต่างๆ มาปะติดปะต่อวิเคราะห์ แล้วในที่สุดสังเคราะห์ขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่จะขยายความสิ่งที่เรียกว่าเป็นความรู้หรือข้อเท็จจริงได้
ในการริเริ่มสร้างสรรค์นี้ จำเป็นต้นอาศัยความสามารถที่จะคิดอย่างต่อเนื่อง สามารถจะกระทำอย่างต่อเนื่องโดยเป้าหมายที่ชัดเจน จะต้องไม่มีลักษณะของการจับจดหรือทำสิ่งหนึ่งยังไม่ทันเสร็จก็จับอีก สิ่งหนึ่ง อย่างนี้ก็จะไม่สามารถทำการวิจัยได้สำเร็จ จำเป็นจะต้องยึดกับสิ่งที่กระทำไปจนสำเร็จตามเป้าหมาย
คุณลักษณะประการที่ห้า คือ ความเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลตลอดจนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้อยู่ในรูปที่ปราศจากอคติ ไม่พยายามผันแปรข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น จะต้องมุ่งมั่นที่จะได้ความจริงของธรรมชาติโดยแท้จริง จำเป็นที่จะต้องพูดหรือกระทำโดยยึดความจริงของธรรมชาติอย่างแท้จริง จำเป็นที่จะต้องพูดหรือกระทำโดยมีความซื่อสัตย์
คุณลักษณะประการที่หก คือ ความเป็นผู้มีความขยัน หมั่นเพียร มีความมานะอุตสาหะที่จะดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จได้ เพราะว่าการวิจัยมักจำเป็นต้องใช้ความพยายาม ในบางกรณีต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงจะสามารถให้ได้ข้อเท็จที่ถูกต้องยิ่งขึ้น การพยายามน้อยอาจจะทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้มีความคลาดเคลื่อนมากเกินไปก็ได้ การที่ผู้วิจัยจะต้องเป็นผู้มีความมานะอุตสาหะนี้อาจจะขยายความไปถึงความเป็นผู้ที่มีความละเอียดลออ ต้องทำงานโดยละมุนละม่อม มีความละเอียดในการสังเกต ใช้สายตา ใช้มืออย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนถึงความคิดที่ละเอียด มองทุกแง่ทุกมุม ไม่ทำหรือคิดอย่างหยาบแล้วทิ้ง รายละเอียดบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์ไป
คุณลักษณะประการสุดท้าย ผู้วิจัยควรเป็นผู้ที่มีความสุขกับการทำงาน เป็นผู้ที่เกิดปีติจากการที่ได้ทำการศึกษาและค้นพบ การที่ “ตถตา” มีความหมายว่า “มันเป็นเช่นนั้นโว้ย” เป็นอุทานแสดงว่าเกิดความพอใจขึ้นจากการค้นพบ เช่น อาคีเมดีส มีความตื่นเต้นและดีใจ เมื่อสามารถค้นหาวิธีใหม่ในการวัดปริมาตรได้ สภาพของความปีติที่เกิดขึ้นจากการค้นพบนี้ เป็นลักษณะพิเศษของนักค้นคว้าหรือนักวิจัยทั้งหลาย
จรรยาบรรณนักวิจัยเป็นอย่างไร
จรรยาบรรณนักวิจัย หมายถึง หลักเกณฑ์ควรประพฤติปฏิบัติของนักวิจัยโดยทั่วไป เพื่อให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนประกันมาตรฐานของการศึกษา ค้นคว้าให้เป็นไปอย่างสมศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของนักวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2541: 2)
จรรยาบรรณในการวิจัยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องด้วยในกระบวนการค้นคว้าวิจัย นักวิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสิ่งที่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต การวิจัยจึงอาจส่งผลกระจายในทางลบต่อสิ่งที่ศึกษาได้ หากผู้วิจัยขาดความรอบคอบระมัดระวัง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (2541: 3-13) จึงกำหนด “จรรยาบรรณนักวิจัย” ไว้ 9 ประการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยยึดถือปฏิบัติ อันจะทำให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ จริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ดังนี้
- นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัย ต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย และมีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
- นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำวิจัย ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย และต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
นักวิจัยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลงการวิจัยที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน อุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลดีที่สุดและเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความรับผิดชอบ ไม่ละทิ้งงานระหว่างดำเนินการ
- นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำการวิจัย
นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปที่ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย
- นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
นักวิจัยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
- นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
นักวิจัยต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยและขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการวิจัยแก่บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยไม่ หลอกลวงหรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
- นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตน หรือความลำเอียงทางวิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย
- นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคม ไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปในทางมิชอบ
- นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
นักวิจัยพึงมีใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการวิจัย ยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
- นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ
นักวิจัยพึงมีจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเจริญและประโยชน์สุขของสังคมและมวลมนุษยชาติ
ที่มา:
- อ้อมทิพย์ เมฆรักษาวนิช แคมป์. (ม.ป.ป). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2561. จาก http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/section2/ca520/01.htm.